หลักฐานในเรื่องนี้มีมากมาย เช่น ฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า แท้จริงท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “สิทธิระหว่างมุสลิมด้วยกันมีหกอย่าง” มีผู้กล่าวว่า มีอะไรบ้างโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮ์? ท่านตอบว่า: “เมื่อท่านพบเจอเขาก็จงให้สลามแก่เขา เมื่อเขาเชิญท่านก็จงรับคำเชิญเขา เมื่อเขาขอคำปรึกษาจากท่านก็จงให้คำปรึกษาแก่เขา เมื่อเขาจามแล้วกล่าวว่า อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ท่านก็จงกล่าวว่า ยัรฮะมุกัลลอฮ์ เมื่อเขาป่วยท่านก็จงไปเยี่ยมเขา เมื่อเขาเสียชีวิตที่ก็จงตามไปส่งศพของเขา” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2162)
- ส่วนการกล่าวตอบสลามนั้นเป็นวาญิบ หลักฐานคือ:
อายะฮ์ที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า:
:{وَإِذَا حُيِّيْتُم بِتَحِيَّةٍ فَحَيُّواْ بِأَحْسَنَ مِنْهَا أَوْ رُدُّوهَا إِنَّ اللّهَ كَانَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ حَسِيباً}[النساء : 86]
ความว่า “และเมื่อพวกเจ้าได้รับคำอวยพรใด ๆ ก็จงกล่าวตอบด้วยคำอวยพรที่ดีกว่านั้น หรือไม่ก็กล่าวคำอวยพรนั้นตอบกลับไป แท้จริงอัลลอฮ์ทรงคำนวนนับทุกสิ่งทุกอย่าง” ]ซูเราะฮ์อันนิซาอ์: 86]
กฎทางศาสนบัญญัติกำหนดว่า โดยรากฐานแล้วคำสั่งย่อมต้องมีนัยว่าเป็นวาญิบ นักวิชาการมากกว่าหนึ่งคนเห็นพ้องกันว่า การกล่าวตอบรับ สลามนั้นเป็นวาญิบ เช่น อิบนุ ฮัซม์, อิบนุ อับดิลบัร, ชัยค์ ตะกียุดดีน เป็นต้น (ดูใน อัลอาดาบ อัชชัรอียะฮ์ 1/356 ฉบับพิมพ์ มุอัซซะซะฮ์ อัรริซาละฮ์)
- สำนวนการให้สลาม และตอบสลามที่ประเสริฐที่สุดคือ (อัสสะลามุอลัยกุม วะเราะห์มะตุลลอฮิ วะบะเราะกาตุฮ์)
อิบนุล ก็อยยิม เราะฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า: “แบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในการให้สลาม ท่านจะกล่าวสุดที่คำว่า “วะบาเราะกาตุฮ์” (ดูใน ซาดุลมะอาด 2/417)
การให้สลาม เป็นซุนนะฮ์หนึ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ เนื่องด้วยความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ ดังฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในมือของพระองค์ พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านยังไม่ศรัทธาอย่างสมบูรณ์จนกว่าพวกท่านจะรักใคร่กัน เอาไหมฉันจะบอกพวกท่านถึงสิ่งหนึ่งที่เมื่อพวกท่านทำสิ่งนั้นพวกท่านจะรักกัน? นั่นคือ จงให้สลามแก่กัน” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 54)
เช่นสงสัยว่าการให้สลามครั้งแรกไม่ได้ยิน ก็ส่งเสริมให้กล่าวสลามเป็นครั้งที่สอง และสาม เช่นกันหากเขาเข้าไปยังที่ประชุมใหญ่ๆ มีคนมากมาย และเกรงว่าการกล่าวสลามครั้งเดียวจะได้ยินไม่ทั่วถึงก็ให้กล่าวจนถึงสามครั้งเพื่อให้ได้ยินทั่วถึงทั้งหมด
หลักฐานคือ: ฮะดีษที่ท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ รายงานว่า “เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พูดคำหนึ่งท่านจะพูดซ้ำสามครั้ง จนเกิดความเข้าใจ และเมื่อท่านมาเดินเข้ามายังวงชุมนุมใดท่านก็ให้สลามพวกเขาสามครั้ง” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 95)
จากฮะดีษของท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ เราได้รู้ว่ามีซุนนะฮ์ให้พูดซ้ำสามครั้งหากมีความจำเป็น เช่น เมื่อพูดแล้วผู้ฟังไม่เข้าใจมีซุนนะฮ์ให้พูดซ้ำจนถึงสามครั้ง
ดังฮะดีษของท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัมร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า: “แท้จริงมีชายคนหนึ่งมาถามท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่ามีการปฏิบัติในอิสลามอันใดบ้างที่ดีเลิศ? ท่านกล่าวว่า “การที่ท่านเลี้ยงอาหาร และให้สลามแก่คนที่ท่านรู้จักและไม่รู้จัก” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 12 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่39)
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า:ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “ผู้ที่ขี่พาหนะต้องให้สลามแก่ผู้ที่เดิน ผู้ที่เดินต้องให้สลามแก่ผู้ที่นั่ง คนจำนวนน้อยต้องให้สลามแก่คนจำนวนมาก” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 6233 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2160)
และในอีกสายรายงานหนึ่งท่านกล่าวว่า: “เด็กต้องให้สลามแก่ผู้ใหญ่ คนเดินผ่านต้องให้สลามแก่คนที่นั่ง คนจำนวนน้อยต้องให้สลามแก่คนจำนวนมาก” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 6234)
และไม่ได้หมายความว่าการเริ่มให้สลามก่อนสลับกันจากที่ระบุในฮะดีษจะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด เช่น ผู้ใหญ่ให้สลามแก่เด็กก่อน หรือคนเดินให้สลามแก่ผู้ที่ขี่พาหนะ เป็นต้น
ดังฮะดีษที่ท่านอะนัส บิน มาลิกเราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า “แท้จริงเขาได้เดินกับท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และได้เดินผ่านเด็กกลุ่มหนึ่ง ท่านจึงให้สลามแก่พวกเขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 6247 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2168)
การให้สลามแก่เด็กนั้น ช่วยฝึกให้มีความถ่อนตน และเป็นการฝึกให้เด็กๆ เคยชินกับการให้สลาม และปลูกฝังนิสัยนี้ในตัวของพวกเขา
คือการให้สลามทั่วไป นั่นคือหลังจากถูฟันด้วยไม้สิวาก เพราะการถูฟันด้วยไม้สิวากขณะเข้าบ้านเป็นซุนนะฮ์ และนี่คือช่วงที่สี่ของการถูฟันที่ท่านนบีทำเป็นประจำ คือตอนเข้าบ้าน ดังฮะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า “แท้จริงเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เข้าบ้านท่านจะถูฟันก่อนเป็นอันดับแรก” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 253)
เมื่อท่านถูฟันเสร็จ ท่านได้เข้าบ้านและให้สลามกับคนที่อยู่ในบ้าน จนนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า: เมื่อเข้าบ้านคุณต้องให้สลาม ทุกบ้านแม้แต่บ้านที่ไม่มีคนก็ตาม เพราะอัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า:
:{فَإِذَا دَخَلْتُم بُيُوتاً فَسَلِّمُوا عَلَى أَنفُسِكُمْ تَحِيَّةً مِّنْ عِندِ اللَّهِ مُبَارَكَةً طَيِّبَةً كَذَلِكَ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمُ الْآيَاتِ لَعَلَّكُمْ تَعْقِلُون} [النور:61] .
ความว่า “เมื่อพวกเจ้าเข้าไปในบ้านก็จงกล่าวสลามให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง เป็นการอวยพรอันจำเริญยิ่งจากอัลลอฮ์ เช่นนั้นแหละ อัลลอฮ์ทรงชี้แจงโองการทั้งหลายให้เป็นที่ชัดแจ้งแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้สติปัญญาพิจารณา” [ซูเราะฮ์อันนูร: 61]
อิบนุ ฮะญัร เราะฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า: “การกล่าวให้สลามแก่ตัวเองเมื่อเข้าไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครอยู่ ถือว่าเข้าข่ายอยู่ในบทนี้ด้วย เพราะอัลลอฮ์ ตะอาลา กล่าวว่า: “เมื่อพวกเจ้าเข้าไปในบ้านก็จงกล่าวสลามให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง…” (ดูใน ฟัตห์ อัลบารี ฮะดีษลำดับที่ 6235 เรื่องการให้สลาม)
เกร็ด: ประโยชน์ที่ได้รับจากเรื่องนี้คือ สำหรับการเข้าไปในบ้านมีซุนนะฮ์สามอย่างคือ:
หนึ่ง: การกล่าว บิสมิลลาฮ์ โดยเฉพาะตอนกลางคืน.
ดังฮะดีษที่ท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า เขาได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “เมื่อชายคนหนึ่งเข้าไปในบ้านของเขา และเขากล่าวว่า บิสมิลลาฮ์ ขณะเข้าบ้าน และขณะรับประทานอาหาร ชัยฏอนจะพูดว่า ไม่มีที่นอนและอาหารสำหรับพวกเจ้า และหากเขาเข้าไปในบ้านโดยไม่กล่าว บิสมิลลาฮ์ ชัยฏอนจะพูดว่า พวกเจ้ามีที่นอนแล้ว และหากเขารับประทานอาหารโดยไม่กล่าว บิสมิลลาฮ์ ชัยฏอนจะพูดว่า พวกเจ้ามีอาหารแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2018)
สอง: การถูฟันด้วยไม้ซิวาก ดังฮะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ที่กล่าวมาแล้ว
สาม: การกล่าวสลามแก่คนในบ้าน
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ปฏิบัติอย่างนี้ ดังที่ท่านอัลมิกดาด บิน อัลอัสวัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า: “...พวกเรารีดนมมา และทุกคนก็ได้ดื่มส่วนของตัวเอง และพวกเราก็เก็บส่วนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไว้ให้แก่ท่าน แล้วท่านนบีก็กลับมาตอนกลางคืน ท่านให้สลามด้วยเสียงที่ไม่ทำให้คนที่นอนหลับอยู่ต้องตื่น แต่คนที่ยังไม่นอนก็สามารถได้ยิน” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2055)
การฝากสลามเป็นซุนนะฮ์ เช่น การที่คุณพูดกับคนๆ หนึ่งว่า “จงกล่าวสลามแก่คนนั้นให้ฉันหน่อย” ดังนั้น จึงมีซุนนะฮ์ให้นำคำสลามนั้นไปถึงคน ๆ นั้น
หลักฐานคือ: ฮะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา รายงานว่า: แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวแก่นางว่า: “แท้จริง ญิบรีลกล่าวสลามแก่เธอ” นางกล่าวว่า “ฉันจึงกล่าวว่า ขอความสันติและความเมตตาของอัลลอฮ์จงประสบแด่เขาด้วย” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 3217 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2447)
ในฮะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่า ให้นำคำกล่าวสลามไปถึงเจ้าของมัน เช่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำคำกล่าวสลามของญิบรีลมาบอกแก่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา และจากฮะดีษนี้ได้บทเรียนว่ามีซุนนะฮ์ให้ฝากสลามไปพร้อมกับใครบางคนได้ด้วย
ดังฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านไปถึงที่ประชุม เขาก็จงกล่าวสลาม และเมื่อเขาต้องการจะลุกขึ้นออกจากที่ประชุม เขาก็จงกล่าวสลาม การกล่าวสลามครั้งแรกก็ไม่ได้จำเป็นมากกว่าครั้งหลัง” (บันทึกโดยอะห์มัด ฮะดีษลำดับที่ 9664 บันทึกโดยอบูดาวูด ฮะดีษลำดับที่ 5208 บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ ฮะดีษลำดับที่ 2706 และอัลอัลบานีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่าเศาะฮีห์ ในเศาะฮีห์อัลญามิอ์ 1/123)
ดังฮะดีษที่ท่านอบู ซัรร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่ฉันว่า: “ท่านอย่าได้ดูถูกความดีเด็ดขาด แม้ว่าความดีนั้นคือการพบพี่น้องของท่านด้วยใบหน้าที่เบิกบานก็ตาม” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2626)
และฮะดีษที่ท่านอบู ซัรร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ รายงานว่า ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “การยิ้มของท่านให้แก่พี่น้องของท่านเป็นการบริจาคทาน” (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ ฮะดีษลำดับที่1956 และอัลอัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ใน อัศเศาะฮีฮะฮ์ 572)
ซุนนะฮ์ให้พูดจาด้วยคำพูดที่ดี สุภาพ ไม่ว่าจะตอนพบกัน หรือตอนประชุม หรือในการพูดคุยต่างๆ เพราะการพูดดีนั้นเป็นเศาะดะเกาะฮ์(การบริจาค)
หลักฐานคือ: ฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า: ทาานเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “คำพูดที่ดีนั้นเป็นการบริจาค” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 2989 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 1009)
ผู้คนจำนวนมากที่ชอบพูดด้วยคำพูดที่ดี หากพวกเขาตั้งใจเนียตให้ถูกต้องก็จะพบว่าพวกเขาได้รับความดีอย่างมากมาย และได้รับผลจากการบริจาคนี้ไปอย่างล้นเหลือ
ชัยค์อิบนุ อุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า: “ คำพูดที่ดี คือการที่ท่านพูดว่า: คุณเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม แล้วพี่น้องของคุณล่ะ สบายดีนะ? ครอบครัวของคุณล่ะ? เป็นต้น เพราะคำพูดดีๆ เหล่านี้ได้สร้างความสุขให้แก่เพื่อนของคุณ ทุกๆ คำพูดที่ดี จึงเป็นการบริจาคของคุณ และเป็นผลบุญ เป็นผลตอบแทน ณ พระองค์อัลลอฮ์” (ดูใน ชัรห์ ริยาฎ อัศศอลิฮีน 2/996) เรื่องซุนนะฮ์ของคำพูดดี ๆ และการมีใบหน้าเบิกบานขณะเจอกัน
ฮะดีษที่กล่าวถึงความประเสริฐของการนั่งรำลึกถึงอัลลอฮ์ร่วมกันมีมากมาย เช่น ฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “แท้จริงสำหรับอัลลอฮ์นั้นมีบรรดามะลาอิกะฮ์ที่คอยตระเวนไปตามถนนหนทางต่างๆ คอยหาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ เมื่อเจอกลุ่มชนใดที่รำลึกถึงอัลลอฮ์ พวกเขาก็จะเรียกกันว่า มาเถิด รีบมาสู่สิ่งที่พวกท่านต้องการกันเถิด แล้วพวกเขาก็ห้อมล้อมด้วยปีกของพวกเขาจนสูงถึงฟ้าดุนยา…” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 6408 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2689)
ดังฮะดีษที่ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “ผู้ใดที่นั่งร่วมกัน และได้พูดคุยมากมาย แล้วก่อนลุกขึ้นเขากล่าวว่า:
سُبْحَانَكَ اللّهُمَّ وَبِحَمْدِكَ، أَشْهَدُ أن لاَ إلَهَ إلاّ أنْتَ، أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوبُ إِلَيْكَ
อ่านว่า “ซุบฮานะกัลลอฮุมมะ วะบิฮัมดิกะ, อัชฮะดุ อันลา อิลาฮะ อิลลาอันตะ, อัสตัฆฟิรุกะ วะอะตูบุอิลัยกะ”
ความว่า: “มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์ และด้วยการสรรเสริญของอัลลอฮ์ ฉันปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์ และฉันสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวสู่พระองค์”
ไม่มีใครที่กล่าวเช่นนี้นอกจากความผิดของเขาจะถูกให้อภัย” (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ ฮะดีษลำดับที่ 3433 และอัลอัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ในเศาะฮีห์อัลญามิอ์ 2/1065)