languageIcon
search
search
brightness_1 กล่าวดุอาอ์ขณะเข้าและออกจากห้องน้ำ

มีซุนนะฮ์สำหรับผู้ที่เข้าห้องน้ำให้กล่าวดุอาอ์ในฮะดีษเศาะฮีห์ดังนี้:

ท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า “เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เข้าห้องน้ำ ท่านกล่าวว่า:

اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنَ الْخُبثِ وَالْخَبَائِثِ

อ่านว่า “อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุบิกะ มินัล คุบุษิ วัลเคาะบาอิษ”

ความว่า “โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายของชัยฏอนเพศผู้ และชัยฏอนเพศเมีย” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 6322 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 375)   

“อัลคุบุษ” คือชัยฏอนเพศผู้ และ “อัลเคาะบาอิษ” คือชัยฏอนเพศเมีย การขอความคุ้มครองจึงต้องขอให้พ้นจากทั้งสองเพศ

และ “อัลคุบษ์” คือ ความชั่วร้าย และ “อัลคอบาอิษ” คือจิตใจหรือตัวตนที่ชั่วร้าย การขอความคุ้มครองจึงขอให้พ้นจากความชั่วและเจ้าของความชั่ว คำว่า อัลคุบษ์ จึงมีความหมายครอบคลุมกว่า

- ผู้ที่ออกจากห้องน้ำมีซุนนะฮ์ให้กล่าวว่า:

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า “เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ออกจากห้องน้ำท่านกล่าวว่า: “ฆุฟรอนะกะ” ความว่า “โอ้อัลลอฮ์โปรดอภัยโทษให่แก่ฉันด้วย” (บันทึกโดยอะห์มัด ฮะดีษลำดับที่ 25220 บันทึกโดยอบูดาวูด ฮะดีษลำดับที่ 30 บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ ฮะดีษลำดับที่ 7 และอัลอัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ใน ตะห์กีก มิชกาต อัลมะศอบีห์ 1/116)

brightness_1 ซุนนะฮ์ให้เขียนพินัยกรรม

มีซุนนะฮ์ให้มุสลิมทุกคนเขียนพินัยกรรมไม่ว่าเขาจะป่วย หรือสุขภาพดี ดังคำสั่งเสียของท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ท่านกล่าวว่า: “ไม่มีสิทธิใดๆ ที่มุสลิมต้องการจะสั่งเสีย เว้นแต่เขาจะต้องเขียนพินัยกรรมนั้นเตรียมไว้ภายในสองคืน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 2783 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 1626 จากฮะดีษของท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) 

และคำว่าสองคืนในฮะดีษไม่ใช่การจำกัดเวลา แต่เป้าหมายคือเพื่อบอกว่าไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไป แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม นอกจากเขาจะต้องเขียนพินัยกรรมเอาไว้ เพราะเขาไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะตายเมื่อใด และนี่เป็นซุนนะฮ์สำหรับคนทั่วไปทุกคน

ส่วนคำสั่งเสียที่เป็นสิทธิของอัลลอฮ์ที่เขาต้องปฏิบัติ เช่นการจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์ การชดใช้ความผิด หรือสิ่งที่เป็นสิทธิของผู้อื่น เช่น หนี้สิน หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สิ่งนี้ไม่ใช่ซุนนะฮ์ แต่เป็นวาญิบ จำเป็นต้องปฏิบัติเพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นวาญิบ โดยเฉพาะสิทธิต่างๆ ที่ไม่มีใครรู้นอกจากเขา ตามกฎที่ว่า “หากสิ่งวาญิบใดไม่อาจสมบูรณ์ได้ยกเว้นต้องมีบางสิ่งประกอบ สิ่งประกอบที่ว่านั้นก็ย่อมต้องวาญิบด้วย”

brightness_1 ใช้ความเอื้อเฟื้อและอ่อนโยนต่อกันในการซื้อขาย

ระหว่างการซื้อขาย ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความเอื้อเฟื้อและความสุภาพอ่อนโยน อย่าได้ใช้ความแข็งกระด้างต่อคู่กรณีที่ทำธุรกรรมด้วยกันในการโต้เถียงเพื่อต่อรองราคา แต่ให้พยายามใช้ความอะลุ่มอล่วยและเอื้อเฟื้อต่อกัน

หลักฐานคือ:

ฮะดีษที่ท่านญาบิร บิน อับดุลลอฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า: แท้จริงท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “อัลลอฮ์ได้เมตตาต่อชายผู้ที่อะลุ่มอล่วยเมื่อซื้อ เมื่อขาย และเมื่อขอให้ใช้หนี้” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 2076)

เช่นเดียวกันเมื่อเขาเรียกร้องสิทธิของเขา มีซุนนะฮ์ให้เขามีความอะลุ่มอล่วย ดังคำกล่าวของท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า “เมื่อเขาขอให้ใช้หนี้”

brightness_1 ละหมาดสองร็อกอะฮ์หลังจากการอาบน้ำละหมาดทุกครั้ง

ซุนนะฮ์ในชีวิตประจำวันเหล่านี้เมื่อปฏิบัติจะได้รับความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่คือ จะได้เข้าสวรรค์  ดังฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า แท้จริงท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า: “โอ้บิลาล จงบอกฉันมาถึงการงานในอิสลามที่ท่านทำแล้วหวังผลตอบแทนมากที่สุด เพราะฉันได้ยินเสียงรองเท้าของท่านอยู่ข้างหน้าฉันในสวรรค์”  บิลาลกล่าวว่า “ไม่มีการงานใดที่ฉันมีความหวังมากไปกว่าการที่ฉันอาบน้ำละหมาดในตอนกลางคืนหรือกลางวันแล้วฉันทำการละหมาดด้วยน้ำละหมาดนั้นเท่าที่จะถูกอำนวยแก่ฉัน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษละดับที่ 1149 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 2458)

brightness_1 การรอละหมาด

การรอละหมาดก็เป็นซุนนะฮ์ที่มีความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่ง.

หลักฐานคือ:

ฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ รายงานว่า: ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านยังคงอยู่ในการละหมาดของเขา ตราบใดที่การละหมาดรั้งเขาไว้ ไม่มีอะไรห้ามเขาไม่ให้กลับไปหาครอบครัวของเขานอกจากการละหมาด” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 659 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 649) การรอละหมาดก็ได้รับผลบุญของการละหมาดด้วย

และฮะดีษที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์  เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ รายงานว่า: ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “บรรดามะลาอิกะฮ์ยังคงอวยพรให้แก่คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่าน ตราบใดที่เขายังอยู่ในสถานที่ละหมาดของเขา และไม่เสียน้ำละหมาด พวกเขาจะกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ โปรดอภัยโทษให้แก่เขาด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ โปรดเมตตาเขาด้วยเถิด คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านยังคงอยู่ในการละหมาดของเขาตราบใดที่การละหมาดรั้งเขาไว้ ไม่มีอะไรห้ามเขาไม่ให้กลับไปหาครอบครัวของเขานอกจากรอที่จะละหมาดเวลาต่อไป” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 659 บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 649) คำว่า “มาลัม ยุฮ์ดิษ” ในฮะดีษ คือ ตราบใดที่ไม่เกิดสิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด และในบันทึกของมุสลิมระบุว่า

ตราบใดที่ยังไม่ทำสิ่งอันตรายใด ตราบใดที่ยังไม่เสียน้ำละหมาด” (บันทึกโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 649) กล่าวคือ ผลบุญนี้อยูภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นขณะที่เขานั่งรอละหมาดอยู่ และต้องไม่เกิดสิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาด

brightness_1 การแปรงฟัน

การแปรงฟันเป็นซุนนะฮ์ที่กระทำได้ทุกเวลาโดยไม่มีข้อยกเว้น และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ส่งเสริมให้กระทำเป็นอย่างมากจนท่านกล่าวว่า: “ฉันได้สั่งให้พวกท่านแปรงฟันบ่อยครั้งมากแล้ว” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 888 เป็นรายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์)

และฮะดีษที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “การแปรงฟันทำให้ปากสะอาด และทำให้อัลลอฮ์พอใจ” (บันทึกโดยอะห์มัด ฮะดีษลำดับที่ 7 บันทึกโดยอันนะซาอีย์ ฮะดีษลำดับที่ 5 และอัลอัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ในอัลอิรวาอ์ 1/105)

ซุนนะฮ์ของการแปรงฟันจะเน้นหนักมากขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ที่เรากล่าวมาแล้วตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น เมื่อตื่นนอนกลางคืนก่อนกิยามุลลัยล์ เมื่ออาบน้ำละหมาด เมื่อจะละหมาด เมื่อเข้าบ้าน วัลลอฮุอะอ์ลัม

brightness_1 อาบน้ำละหมาดใหม่ทุกครั้งที่ละหมาด

มีซุนนะฮ์ให้มุสลิมทุกคนอาบน้ำละหมาดใหม่ทุกครั้งที่จะละหมาด เช่น หากเขาอาบน้ำละหมาดเพื่อละหมาดมัฆริบ เมื่อเวลาอิชาอ์มาถึงมีซุนนะฮ์ให้เขาอาบน้ำละหมาดอีกครั้ง แม้ว่าเขายังไม่เสียน้ำละหมาดก็ตาม

หลักฐานคือ:

ฮะดีษที่อยู่ในบันทึกของอัลบุคอรีย์ที่ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะอาบน้ำละหมาดใหม่สำหรับละหมาดแต่ละครั้ง” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ฮะดีษลำดับที่ 214)

และมีซุนนะฮ์ให้รักษาน้ำละหมาดอยู่ตลอดเวลา ดังฮะดีษที่ท่านเษาบาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า: แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า: “ไม่มีใครรักษาน้ำละหมาดตลอดเวลา นอกจากว่าเขาย่อมเป็นผู้ศรัทธา” (บันทึกโดยอะห์มัด ฮะดีษลำดับที่ 22434 บันทึกโดยอิบนุมาญะฮ์ ฮะดีษลำดับที่ 277 บันทึกโดยอัดดาริมีย์ ฮะดีษลำดับที่ 655 และอัลอัลบานีย์กล่าวว่าเศาะฮีห์ ในเศาะฮีห์อัลญามิอ์ 1/225)